ฯพณฯ จอมพลผิน ชุณหะวัณ

ปี พ.ศ 2492

เงินทุนการก่อตั้ง

ปี พ.ศ. 2492 ฯพณฯ จอมพลผิน ชุณหะวัณ รองผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ชักชวนข้าราชการในกองทัพบกทุกท่านให้เสียสละเงินรายได้ปีละ 1 วันเพื่อให้กองทัพบก รวบรวมสมทบทุนก่อสร้างโรงเรียน โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนบุตรข้าราชการกองทัพบก” เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของชาติ และเป็นการตอบแทนข้าราชการสังกัดกองทัพบก ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละโดยไม่ต้องกังวลในเรื่องการจัดหาโรงเรียนให้กับบัตรหลาน โดยเงินจำนวนนี้ใช้ชื่อย่อว่า “เงินงบ ง.ส.ร.บ.” และได้เริ่มดำเนินการสะสมเงินนี้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ. 2492

ปี พ.ศ 2509

ประวัติการก่อตั้ง

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ได้มีการก่อสร้าง “โรงเรียนบุตรข้าราชการกองทัพบกส่วนกลาง” ขึ้นที่ ริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้ริเริ่ม และมอบหมายให้พลเอกเต็ม หอมเศรษฐี เป็นประธานอนุกรรมการการจัดตั้งและก่อสร้าง

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511 การก่อสร้างโรงเรียนเสร็จสิ้น โดยมี ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ ซึ่งมีการเปิดสอนในสายสามัญอย่างเดียว

จอมพลประภาส จารุเสถียร

ปี พ.ศ 2515

โรงเรียนพาณิชยการบุตรข้าราชการกองทัพบก

ในปี พ.ศ.2515 กองทัพบกได้จัดตั้ง “โรงเรียนพณิชยการบุตรข้าราชการกองทัพบก” โดยเปิดสอนในแผนกพณิชยการหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้บุตรข้าราชการกองทัพบกและบุคคลอื่นได้ศึกษาต่อในสายอาชีพ โดยมีอาคารเรียน 2 หลัง และหอพัก 1 หลัง โดยมีพลเอกทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นเจ้าของ ในนามของตัวแทนกองทัพบก มีพันตรีพิษณุ อินทรกำแหง เป็นผู้จัดการ และพันตรีสุบรรณ แสงพันธุ์ เป็นครูใหญ่

โดยในปีการศึกษาแรกมีผู้สมัครและเข้าเรียนประมาณ 400 คน แบ่งเป็น 9 ห้องเรียนละประมาณ 40-50 คน โดยส่วนใหญ่เป็นบุตรของข้าราชการกองทัพบก และในปีการศึกษาแรก (ปีการศึกษา 2515) เป็นการเรียนรวม และแยกแผนกในปีการศึกษาที่สอง (ปีการศึกษา 2516) ซึงแบ่งเป็น 3 แผนก คือ แผนกบัญชี แผนกเลขานุการ และแผนกการขาย

ในปี พ.ศ.2516 มีการเปิดสอนแผนกช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างวิทยุ เพิ่มขึ้นอีก 3 แผนก และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนอาชีวศึกษาบุตรข้าราชการกองทัพบก” และภายหลังกองทัพบกได้ มอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการต่อ เพราะพิจารณาเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนผู้ชำนาญในการจัดการ ตลอดจนอาคารเรียน อุปกรณ์ ที่ดิน และทรัพย์สิน

ปี พ.ศ 2517

วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2517 ได้มีการโอนภาระหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เป็นผู้มอบ โดยมอบโรงเรียนที่เปิดสอนวิชาสามัญ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี” และโอนโรงเรียนอาชีวศึกษาบุตรข้าราชการกองทัพบกไปอยู่สังกัดกรมอาชีวศึกษา และเพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงกองทัพบก กระทรวงศึกษาธิการจึงขอพระราชทานนามของ “จอมพลสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ” ซึ่งเป็นเสนาธิการของกองทัพบกเป็นชื่อใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยจักรพงษภูวนารถ”

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้มีการโอนสถานศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษาทั้งหมด 28 แห่ง ไปอยู่สังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ”

ปี พ.ศ. 2527 เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สายวิชาบริหารธุรกิจ 3 แผนก คือ แผนกการบัญชี แผนกการตลาด และแผนกเลขานุการ และเปิดสอนแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจในปีการศึกษา 2528

ปี พ.ศ 2531

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 วิทยาลัยจักรพงษภูวนารถ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ” ตามวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ให้ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล”

ปี พ.ศ. 2537 สภาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้อนุมัตติให้วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี(ต่อเนื่อง) หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาระบบสารสนเทศ (คอมพิวเตอร์) และมีการอนุมัติเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทั่วไปต่อมา

ปี พ.ศ. 2542 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี บริหารธุรกิจบัณฑิต ภาคปกติ สาขาวิชาการจัดการทั่วไป และมีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเพิ่มทางเลือกในการศึกษาให้มากขึ้น จนปี 2547 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี วิทยาศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 ได้มีการลงนามความร่วมมือ โครงการจัดการศึกษาภายนอกมหาวิทยาลัยฯ ระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ ภาคสมทบ ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ และโรงเรียนเทคโนโลยีภาคตะวันออก (E.TECH) ชลบุรี

ปี พ.ศ 2548

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ

ใน พ.ศ. 2548 จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 และได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 พระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2548 มีผลให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเดิม ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2518 ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลถูกแบ่งแยกออกเป็น 9 มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ประกอบด้วย 4 วิทยาเขตดังนี้
1. วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ
2. วิทยาเขตจันทบุรี
3. วิทยาเขตบางพระ จ.ชลบุรี
4. วิทยาเขตอุเทนถวาย