จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช (ในรัชกาลที่ ๖) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ นริศรราช มหามกุฎวงศ์ จุฬาลงกรณ์นรินทร สยามพิชิตินทรวรางกูร สมบูรณ์พิสุทธิชาติ วิมโลภาษอุทัยปักษ์ อรรควรรัตน์ขัตติยราชกุมาร กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ณ วันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔ ตรงกับวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๒๕ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๐ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) และขุนบำนาญ วรวัฒน์ (สิงโต) ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงเรียนราชกุมารขึ้น ในพระบรมมหาราชวังแล้วได้ทรงเข้าโรงเรียนนี้ ทรงศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (ครูสอนภาษาอังกฤษ คือ มิสเตอร์วุลสเลย์ และมิสเตอร์เยคอลฟิลค์เยมส์) ครั้นเมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ ชันษา คือ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปศึกษาวิชาในทวีปยุโรป โดยมี จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงษ์วรเดช เชิญเสด็จไปถึงทวีปยุโรป เมื่อถึงแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ
ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายร้อยทหารบกของประเทศสยาม แต่คงให้ทรงศึกษาวิชาอยู่ในประเทศอังกฤษไปก่อน แล้วจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาในประเทศรัสเซีย ตามที่สมเด็จ พระเจ้านิโคลัสที่ ๒ จักรพรรดิรัสเซียได้ขอไว้ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๑ จึงได้เสด็จไปประเทศรัสเซีย เพื่อทรงศึกษา ณ โรงเรียนทหารทางประเทศรัสเซียได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ทั้งได้มอบให้ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็ก และนายร้อยเอก นายทหารม้ารักษาพระองค์ (พลตรี เคานต์ เค็ลแลร์ และ ร.อ.วัลเอมาร์ฆรูล็อฟฟ์) เป็นนายทหารช่วยเหลือในการศึกษา และคอยถวายความสะดวก ดูแลทุกประการ
ในการศึกษานี้ สมเด็จพระจักรพรรดิ ได้รับสั่งให้เข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารบกที่มีอยู่ ๙ ชั้น ให้สอบไล่ได้ในกำหนด ๔ ปี เพราะฉะนั้นในการศึกษาชั้นต้น ๆ จึงจำเป็นจะต้องให้ได้รับการศึกษาวิชา เพื่อเตรียมพระองค์เข้าเป็นนักเรียนชั้น ๖ ทีเดียว โดยจัดครูมาสอนในที่ประทับ จากนั้นจึงเข้าศึกษาชั้น ๖ และจบชั้น ๙ ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ โดยทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ พระองค์ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยทหาร และทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ อีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ สมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ ทรงพอพระทัยยิ่ง ทรงแต่งตั้งให้เป็นพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิกับพระราชทานสายสะพาย เซนต์อันเดรย์ ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์ อีกด้วย
ในระหว่างที่ประทับอยู่ประเทศรัสเซีย พระองค์ทรงเษกสมรสกับพยาบาลชาวรัสเซีย ชื่อ คัทรินเดนิตสกี้ และทรงมีพระโอรส ๑ พระองค์ ซึ่งภายหลังได้พระนามว่า พระเจ้าจุลจักรพงษ์
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศรัสเซีย ทรงเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ และต่อมาในปีเดียวกันทรงได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ โรงเรียนทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ ทรงเป็นผู้รั้งหน้าที่ เสนาธิการทหารบก และได้ทรงเป็นเสนาธิการทหารบกในปีเดียวกันพร้อมกับทรงรั้งหน้าที่เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก (เปลี่ยนการจัดโรงเรียนทหารบก เป็นกรมยุทธศึกษาทหารบก) จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๖ และในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์อีกตำแหน่งหนึ่ง
ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบก็ได้ทรงปรับปรุงงานเสนาธิการให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ เพื่อให้การศึกษาแก่ นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ บรรจุตามงานในหน้าที่เสนาธิการที่ได้ปรับปรุงขึ้นอย่างกว้างขวาง ทรงจัดวางแนวทางหลักสูตรการศึกษา โรงเรียนเสนาธิการ และการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา นอกจากนี้ ยังทรงเรียบเรียงตำรา เรื่อง “พงศาวดารยุทธศิลปะ” และเอกสารอื่นๆ ซึ่งใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้นอีกจำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการ สืบจนถึงปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ในการปรับปรุงให้ราชการทหารเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้สามารถจัดส่งทหารอากาศไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในทวีปยุโรป ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ผลตามพระราชประสงค์ทุกประการ ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ทรงก่อตั้งกองบินทหารบก ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นกองทัพอากาศ และทรงริเริ่มก่อสร้างค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้โปรดให้ทดลองใช้เครื่องบินนำถุงไปรษณีย์ไปเมืองจันทบุรี และบินแสดงให้ประชาชนจังหวัดนั้นชมได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และมีพระราชดำรัสเป็นการสนับสนุนการบินอย่างเต็มที่ว่า ” กำลังในอากาศเป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียวที่จะป้องกันมิให้สงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งยังประโยชน์อย่างยิ่งในการคมนาคมปกติ” นับว่าพระองค์ ทรงวางรากฐานบนแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศในทุกวันนี้
จากพระประวัติโดยสังเขปของพระองค์ จะเห็นได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถเฉียบแหลม ทั้งด้านการศึกษา และด้านรับราชการ ทรงรับผิดชอบการงานต่างๆ อย่างมากมาย และต้องทรงเหน็ดเหนื่อยตลอดมา ยากที่จะหาเวลาพักผ่อนได้อย่างพอเพียง จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ พระองค์ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไปพักผ่อนพระวรกาย พระองค์พร้อมพระชายาและพระโอรส จึงได้เสด็จไปประพาสทางฝั่งทะเลตะวันตก เมื่อ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ แต่เสด็จไปได้เพียง ๑ วัน ก็ประชวรไข้ไปตลอดทางจนวันที่ ๘ มิถุนายน ถึงสิงคโปร์ พระอาการประชวรยิ่งกำเริบหนักขึ้น จนถึงวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๕๐ นาที พระองค์ได้เสด็จทิวงคต สิริพระชนมายุได้ ๓๘ ชันษา ๓ เดือน ๑๐ วัน